มีสติในการติดตามกำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบสัมผัสและมีสติพิจารณารู้เท่าทันกายและใจของตนเอง มีความทุกข์น้อยลง และมีความสุขมากขึ้น คลายยึดมันไม่วุ่นวายเดือนร้อนตามกระแสโลก ช่วยตัดเวรตัดกรรมได้ ช่วยให้จิตสงบมีความคิดความจำดี ทำให้เกิดสติปัญญา มีความคิดเห็นถูกต้อง มีความรักความสามัคคี และเป็นการสืบทอดพระศาสนาสืบต่อไป
โครงการศีล 5 พัฒนาชีวิต ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2554 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ จัดขึ้นเป็นโครงการแรกกับการบำเพ็ญเนกขัมมจาริณี หรือที่เราเรียกกันว่า ไปปฏิบัติธรรม ได้มีความสนใจเข้าร่วมในโครงการครี้งนี้ จึงขอเสนอชื่อและมีเพื่อนๆ น้องๆ จากสำนักฯ ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นการถือศีล 8 การไปปฏิบัติในครั้งนี้ได้พบสิ่งใหม่ๆ ในตนเองที่ไม่สามารถบอกมาเป็นคำพูดได้แล้วนั้นหรือเป็นความอัศจรรย์ใจ เมื่อได้พบเจอในระหว่งการปฏิบัติ แต่สำหรับเนื้อหาแล้วนั้น ขอนำบทความตัดต่อบางส่วนในหนังสือคู่มือสมาธิภาวนา สวดมนต์แปล ฝ่ายวิปัสนาธุระ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ที่ได้ปฏิบัติกันระหว่างโครงการ มาบอกกล่าวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป
การบำเพ็ญเนกขัมมจาริณี คือการออกบวชเพื่ออบรมธรรมและประพฤติปฏิบัติธรรม การถือศีล 8 การสวดมนต์ การทำวัตรเช้า การทำวัตรเย็น รับฟังการบรรยายธรรม และการฝึกปฏิบัติวิปัสนากัมมัฏฐาน การส่งและสอบอารมณ์ ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน 4 กำหนดรู้อารมณ์ หรือปรากฏการณ์รูปและนาม ซึ่งในขั้นแรกจะกำหนดปรากฏการณ์ที่ชัดเจนก่อน คือการติดตามดูกายและอาการของกาย โดยสอนให้กำหนดรู้อิริยาบทใหญ่ทั้ง 4 คือ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอิริยาบถย่อยต่าง ๆ เช่น เดินหน้า การกิน การดื่ม และในอิริยาบถใหญ่ทั้ง 4 คือการสอนให้กำหนดการเดินและการนั่ง เป็นต้นเรียกว่า การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ
การวิธีปฏิบัติทำให้เกิดการเห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริงๆ ในการฝึกฝนอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดในสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นตรงต่อสภาวะของมันเอง คือเข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ยึดติดกับรูปนามที่เห็น ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ หลงผิด รู้ผิด และยึดติด
ขณะที่ปฏิบัติต้องกำหนดใจให้เป็นปัจจุบัน มีสติอยู่กับปัจจุบัน คือที่อาการ พอง-ยุบ ที่ท้อง อย่าไปดูที่ลมหายใจเพราะคนเราหายใจไม่เท่ากัน และอย่าเบ่งท้องแต่กำหนดอยู่ที่อาการของท้อง เปลี่ยนไปตามอาการว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” ให้ภาวนาอย่างนี้ตลอดไป หรือสิ่งที่เห็นและเกิดขึ้นในขณะนั้นก็ให้ส่งจิตไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นอาการปวดตรงไหนให้ไปกำหนดที่ตรงนั้น ว่า “ปวดหนอ” กำหนดรู้ในอารมณ์ ณ ขณะที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติ ประโยชน์ของหนอทำให้สมาธิเกิดเร็วขึ้นโดยภาวนาพร้อมไปกับการนั่งสมาธิ ครั้งหนึ่งๆ จะเป็นเวลา 30 นาที และเปลี่ยนสลับกับการเดินจงกรม 30 นาที
การเดินจงกรม วิธีการเดินจงกรม ครั้งแรกให้กำหนดการเดินระยะที่ 1 คือ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ ระยะที่ 2 คือ ยกหนอ-เหยียบหนอ ระยะที่ 3 คือ ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ ให้กำหนดภาวนาในใจระหว่างการเดิน
อาจจะเป็นเรื่องยากเกินสำหรับท่านที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน สำหรับคนทั่วไปแล้ว เพืยงแค่ก่อนนอน เมื่อเราเอนตัวลงนอนอย่างช้าๆ และค่อยๆ หลับตาลง ระลึกรู้อยู่ที่ตัวเอง….แค่นี้ก็เกิดสมาธิ สติอยู่กับตนเอง สมองเลิกคิดเรื่องใดใดทั้งสิ้น ระลึกรู้อยู่กับตัวเอง ทุกขณะ …ลองทำดูนะคะ
หลับอย่างมีสติ ….