พัฒนาบุคลากรประจำปี
January 12, 2015 by นางสุจิตรา ยอดเสน่หา
การพัฒนาบุคลากร ระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2558 ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร ในแต่ละปีสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ จะมีเป้าหมายในการทำงานในแต่ละปี ทีมงานจะต้องร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่องค์กรได้ตั้งไว้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ คือ ความสามัคคีของคนในองค์กร การสื่อสารที่ดีภายในองค์กร การแบ่งปันและเสียสละของคนในองค์กร ถึงแม้บางสิ่งบางอย่างจะไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรง การมีวินัยในตนเอง ที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย
กิจกรรมที่ส่งเสริมในเรื่องของ ความสามัคคี การสื่อสารที่ดี การแบ่งปันและการเสียสละ การปรับทัศนคติที่ดีให้กับคนในองค์กร สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ กิจกรรมกลุ่มสำหรับฝึกปฏิบัติ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เหมาะสม เพราะได้ระดมความคิดในการวางแผน การมองปัญหาและอุปสรรคล่วงหน้า การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ เพื่อให้สามารถบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
การศึกษาดูงาน เป็นการพัฒนาบุคลากรอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้ได้แนวคิดการนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรของเรา เพราะแต่ละองค์กรมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน วิธีการบรรลุสู่เป้าหมายก็จะแตกต่างกัน แต่วิธีบริหารจัดการคน เวลา งบประมาณ สถานที่จะมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน สุดแท้แต่หน่วยงานใดจะเน้นหนักไปในเรื่องใด การศึกษาดูงานในองค์กรที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับองค์ของเรานั้น เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากแต่ละองค์กรจะมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง ซึ่งให้แนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมขององค์กรของเราได้
การศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ได้เห็นความเป็นจริงของงานบริการที่ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี แต่การหาแหล่งผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคค่อนข้างมาก ขั้นตอนในการดำเนินงานต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชน ที่มีความต้องการที่หลากหลาย ทุกคนอยากมีไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืน แต่ไม่ต้องการให้ตั้งโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความต้องการใช้ไฟฟ้า วิธีการแก้ปัญหา แนวทางในการปฏิบัติ การนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน การสร้างรายได้โดยการใช้โรงไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม นับเป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่เป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ได้ประโยชน์ร่วมกัน การให้ความรู้ในเรื่องของพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งในประเทศไทย ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะไม่มีใครอยากให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ใกล้บ้านของตนเอง จากการศึกษาดูงาน ณ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ทำให้เห็นถึงการวางแผนล่วงหน้า การจัดการพลังงานไฟฟ้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเป็นระบบ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชา ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งแสดงถึงความอดทนเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ขององค์กร
การศึกษาดูงาน ณ ฟาร์มโชคชัย ได้เรียนรู้กระบวนการในการให้บริการ เริ่มตั้งแต่ภาพลักษณ์ขององค์กรผ่านการแต่งกายของพนักงาน การจัดการที่เป็นระบบ พนักงานมีความพร้อมในการให้บริการทุกจุด มีการส่งต่อและประสานงานกันได้อย่างดี ซึ่งสำนักฯ สามารถนำมาปรับใช้งานได้ในเรื่องของการบริการที่มีประสิทธิภาพ เริ่มจากภาพลักษณ์ขององค์กร การประสานงานการให้บริการ การรู้หน้าที่และการดำเนินภารกิจที่รับผิดชอบได้อย่างลงตัว การให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่นการบำบัดน้ำเสีย การนำมูลสัตว์ไปใช้ในการทำก๊าชชีวภาพ สำหรับใช้ในงานฟาร์ม เพื่อเป็นการลดมลภาวะและเป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง การใช้กลยุทธการสร้างรายได้ที่เรายินดีที่จะจ่าย โดยเฉพาะสิ่งที่ท้าทายความสามารถต่างๆ ที่เน้นความสนุกสนานและการสร้างความสุขให้กับตนเอง ได้เห็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของพนักงาน ที่ไม่สามารถควบคุมสัตว์ที่แสดงได้อย่างเต็มร้อย ทำให้สามารถนำมาใช้ในองค์กรได้เช่นกัน ด้วยการยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และให้อภัยได้ เนื่องจากเป็นเหตุสุดความสามารถ
การศึกษาดูงาน ณ ไร่สุวรรณ ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐ สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยใช้ผลงานวิจัย มาต่อยอด และส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน ในเรื่องของการวิจัย หากไม่มีการนำการวิจัยมาใช้ประโยชน์เลย ถือว่าเป็นงานวิจัยที่สูญเปล่า แต่ไร่สุวรรณนั้น เป็นแหล่งทดลองงานวิจัยต่างๆ ที่สนับสนุนส่งเสริมการเกษตรในด้านของพืชไร่ได้อย่างดีเยี่ยม มีการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องด้วยการรับซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำเป็นร้านจัดจำหน่าย และสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างต่อเนื่องเสมอมา
จะเห็นได้ว่าคุณค่าของการพัฒนบุคลากร ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญ กับสิ่งรอบตัวและการประยุกต์ใช้ การเปิดหูเปิดตาบุคลากร การพาไปพบสิ่งแปลกใหม่ ถึงแม้บางครั้งอาจจะมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติ หากแต่ความสามารถในการประยุกต์ใช้ ในสิ่งที่ได้ไปพบไปเห็น ได้สัมผัส จะทำให้เกิดแนวคิด เกิดการมองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กร และพัฒนานวัตกรรมต่อไป