การเกษียณอายุราชการ
September 27, 2016 by นางสุจิตรา ยอดเสน่หา
บุคลากร ในองค์กรของภาครัฐ เมื่อรับราชการมาจนครบอายุ 60 ปี ก็ต้องเกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นการออกจากราชการภาคบังคับตามวาระ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นไปพักผ่อน หรือทำภารกิจที่ตนเองใฝ่ฝัน หรือบางท่านมีความสามารถสูง หน่วยงานก็จ้างต่อในฐานะต่างๆ เช่น ที่ปรึกษา อาจารย์พิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งต่างๆ ที่หน่วยงานนั้นๆ ตั้งขึ้น
ข้อดีของการเกษียณ
- ได้เงินเดือนโดยไม่ต้องมาทำงานตามปกติ
- ได้พักผ่อน มีเวลาเป็นของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อทำภารกิจที่มุ่งหวัง เช่น การท่องเที่ยว การปฏิบัติธรรม การทำเกษตรขนาดเล็ก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อจรรโลงใจ
- ได้มีเวลาดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวมากขึ้น
- ข้อดีอื่นๆ อีกมากมายตามสภาพของแต่ละบุคคล
ข้อเสียของการเกษียณ
- ความเป็นปกติในชีวิตขาดไป เช่น การตื่นเช้ามาต้องกระวีกระวาดไปทำงาน หรือการผจญภัยในภาวะการณ์อื่นๆ เช่น การจราจรติดขัด ฝนตกน้ำท่วม
- ขาดปฏิสัมพันธ์กันเพื่อนร่วมงาน จากเดิมต้องพบปะเพื่อนร่วมงานทุกวัน เว้นวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่หลังจากนี้ไปจะมีโอกาสได้พบปะเพื่อนร่วมงานน้อยลง
สำหรับพี่ๆ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ขอให้มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง
การวางแผนเกษียณอายุราชการ
สำหรับพวกเราที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ บางคนอายุราชการคงเหลือไม่กี่ปี หรือบางคนอายุราชการเหลือมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป เราได้เตรียมการวางแผนเกษียณกันไว้บ้างหรือยัง มีอะไรที่เราต้องเตรียมกันบ้าง
สิ่งต่อไปนี้เป็นล้วนเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลทั้งสิ้น
การวางแผนการเงิน
เนื่องจากอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับในการดำรงชีพก็มากขึ้นโดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ถึงแม้เราจะเป็นข้าราชการมีสวัสดิการรองรับ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ทั้งหมด มีบางส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่ม
ภาระหนี้สิน ข้าราชการส่วนใหญ่มีภาระด้านหนี้สิน ทำอย่างไรให้หมดหนี้ก่อนเกษียณอายุราชการ เพราะเงินบำนาญที่ได้รับ อาจจะไม่พอเพียงหากเรายังคงเป็นหนี้
การลงทุน หลังเกษียณอายุราชการเราจะมีเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะมองว่ามันเป็นจำนวนที่มาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเทียบกับค่าเงิน มันไม่ใช่จำนวนตามที่เราคิด ดังนั้น ก่อนเกษียณอายุราชการเราควรศึกษาหาความรูด้านการลงทุนไว้บ้าง เพื่อให้เงินงอกเงย และบางท่านอาจจะทำให้เงินสามารถทำงานแทนเราได้ หากศึกษาและลงทุนถูกวิธี
การวางแผนจัดการองค์ความรู้
การตอบแทนองค์กร ต้องยอมรับว่า บุคลากรในองค์กร ประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นตามอายุงาน หากต้องเกษียณอายุราชการไปแล้ว จะทำให้องค์ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลสูญเสียไปด้วย เราจะมีวิธีการจัดการองค์ความรู้ในตัวบุคคลนั้นอย่างไร หากรอให้องค์กรร้องขอคงไม่มีวันสำเร็จ ข้อแนะนำคือ ตัวบุคคลเอง ควรวางแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านในทุกช่องทางเพื่อเป็นวิทยาทานแก่น้องๆ รุ่นหลังอย่าได้กั๊ก หรือหวงวิชาเลย ยิ่งมีคนเก่งๆ ในหน่วยงานยิ่งทำให้หน่วยงานเราประสบความสำเร็จ เราคนที่ทำงานร่วมกันก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก
พี่ๆ เกษียณอายุราชการกันไปรุ่นต่อรุ่น อีกไม่นานก็จะเป็นรุ่นน้องๆ ที่จะตามๆ กันมา
อยู่ให้เขาพอใจ จากไปให้เขาคิดถึง