24th anniversary
September 8, 2018 by นางสุจิตรา ยอดเสน่หา
ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561 นี้ ดิฉัน นางสุจิตรา ยอดเสน่หา ตำแหน่งนักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะมีอายุราชการครบ 24 ปี
ความเป็นมาของการเข้ารับราชการ ในความจริงของชีวิตไม่ได้เคยคิดที่จะรับราชการเลย แต่ก็ต้องมีเหตุได้เข้ามารับราชการ เหตุเกิดเพราะเพื่อนซื้อใบสมัครสอบ ก.พ. แล้วไม่สามารถสมัครได้เนื่องจากจบการศึกษาไม่ทัน เอาใบสมัครมาให้เรารับมาแบบงงๆ สมัครในวันเกือบสุดท้ายด้วยการถ่ายภาพด่วน 45 นาที จากนั้นได้ไปสอบที่สนามสอบโรงเรียนวัดสังเวช แถวบางลำพู ตอนไปสอบก็เข้าสายเกือบไม่ทัน เพราะขึ้นรถเมล์ผิดฝั่ง สาย 53 วนรอบ กลับมาป้ายเกือบสุดท้าย ทุกอย่างมันฉิวเฉียดไปหมด วุฒิที่สอบเข้าเป็นวุฒิ ปวช. ซึ่งตนเองจบ ม.6 แต่ก็ต้องมีเหตุได้ไปเรียน ปวช. เพราะต้องไปเรียนเป็นเพื่อนลูกของเพื่อนแม่อีกที เพราะเรียนภาคค่ำกลับบ้านดึก ไม่มีเพื่อนกลับบ้าน ตอนนั้นเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเหลือแค่ 2 วิชาสุดท้ายก็จะจบการศึกษา ทุกอย่างมาบรรจบพร้อมกัน สอบบรรจุ ก.พ. ได้ จบปริญญาตรี สมัครงานแล้วได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนโปลีเทคนิคลพบุรี กำลังจะไปทำงาน ก.พ.เรียกบรรจุ ตอนแรกว่าจะไม่ไปรายงานตัวเพราะเงินเดือนแค่ 4,080 บาท ขณะที่เป็นครูสอนเงินเดือน 7,000 บาท และอยู่ใกล้บ้านไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่ารถค่ากิน แต่แม่อยากมีลูกรับราชการ และคำพูดของแม่ที่บอกว่า แม่มีลูก 2 คน ความฝันของแม่อยากมีลูกรับราชการ แม่ไม่ขออะไรมากเลยแค่ไปเป็นข้าราชการให้แม่หน่อย แต่เราก็ค้านว่าเงินเดือนแค่สี่พัน จะพอกินหรอแม่ แต่แม่ได้ตอบกลับอย่างทันควันว่า เมื่อตอนไปเรียนหนังสือที่รามฯ ไม่มีเงินเดือน พ่อแม่ไม่มีเงินจะส่งทำไมถึงอยู่ได้ ตอนนี้มีเงินเดือนจะกลัวอะไร ใช้ประหยัดหน่อยก็จะพอ ด้วยความฝันของแม่ซึ่งลูกคนนี้เป็นคนที่ไม่ค่อยจะเชื่อฟังสักเท่าไร แต่สิ่งที่แม่ขอดูจะทำให้แม่มีความสุขได้ไม่น้อยเลย จึงตัดสินใจมาบรรจุรับราชการ ในวันที่เรียกบรรจุมีตำแหน่งให้เลือกไม่มากนัก ตำแหน่งที่เรียกบรรจุคือ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล 1 แต่ตอนสอบบรรจุเราสอบในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 1 แต่ความต้องการของหน่วยงานตอนนั้นคือ ต้องการเจ้าหน้าที่ด้านนี้มากกว่าเพราะตอนนั้นระบบคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในวงราชการแล้ว สถานที่ให้เลือกมีหน้าบัลลังก์ศาล ของกระทรวงยุติธรรม และที่เป็นของกระทรวงศึกษา โดยเราจะได้เลือกตามลำดับที่สอบได้เรียงจากที่น้อยไปมาก พอถึงลำดับของเรา สิ่งที่เราเลือกคือเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับหน่วยงานเหล่านั้นเลย ต้องคาดเดาเอาเองตามวิจารณญาณของเรา เราไม่เลือกหน้าบัลลังก์เพราะพิมพ์ดีดไม่ได้ จึงมุ่งมาที่กระทรวงศึกษา สถานที่ที่ได้รับพิจารณาก่อนคือ เราเดินทางสะดวกไหม เท่าที่เราเดินทางสะดวกที่สุดคือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ เพราะนั่งรถเมล์ต่อเดียวต้นสายสุดสาย 99 และหน่วยงานที่มีให้เลือกตอนนั้น จำได้แม่นคือ สำนักงานอธิการบดี กับสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบ ตัดสินใจทันทีเลยว่าจะเลือกสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบ เพราะจะทำให้เรามีความรู้เพราะมีคำว่าทดสอบ มีเพื่อนตามมาด้วยอีกหนึ่งคนเหตุผลคือเพื่อนบอกหนูไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนที่ไหน หนูขอไปกับพี่ด้วยนะ เราสองคนรับหนังสือรายงานตัวจาก ก.พ. ตรงมายังวิทยาเขตเทเวศร์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากสำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก เพียง 5 นาที เราสองคนคุยกันมีอะไรเหมือนๆ กัน เพื่อนมาจากสิงห์บุรี เรามาจากลพบุรี บ้านใกล้ๆ กัน พอมารายงานตัวที่กองการเจ้าหน้าที่ สิ่งที่เราคิดไว้ว่าเราจะได้รับความรู้จากการเลือกครั้งนี้ หายไปโดยสิ้นเชิง เพราะที่เราเลือกมาเป็นสำนักทะเบียนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับนักศึกษาทั้งหมดตั้งแต่รับเข้าจนจบการศึกษา ในใจก็นึกเสียดายชื่อไม่น่าตั้งแบบนี้เลยทำให้เราเข้าใจผิดเลือกมา เมื่อกรอกข้อมูลประวัติเรียบร้อยเราต้องไปทำประวัติอาชญากรรมที่บ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านโดยมีหนังสือส่งตัวจากราชการไป เรามาบรรจุแล้วเราต้องไปทำวันเสาร์-อาทิตย์ ดีที่สถานีตำรวจเปิดบริการตลอด ซึ่งนับว่าโชคดีไป
ในการทำงานวันแรกที่สำนักบริการทางวิชาการและทดสอบ (สบ.) รอง ผอ. สบ. ได้มีการแนะนำให้รู้จักกับหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ซึ่งตอนนั้นท่านได้แจ้งว่า สบ. มีแผนที่จะย้ายหน่วยงานไปอยู่ที่ศูนย์กลางราชมงคล (ศรม.) ที่คลองหก ธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ตอนนั้นบอกตามตรงเลยอยากร้องไห้มาก เลือกมาผิดเพราะชื่อที่จะทำให้เรามีความรู้เพิ่มแล้ว ยังจะมาย้ายไปที่เราไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนอีก ที่เลือกมาที่เทเวศร์เพราะคิดว่าสะดวก และจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย โดย รอง ผอ. อยากให้เราไปอยู่ฝ่ายรับสมัครและลงทะเบียนเรียน โดยให้เหตุผลว่าเราจบปริญญาตรีมาน่าจะช่วยงานที่ฝ่ายได้ดี แต่หัวหน้าฝ่ายปฏิเสธว่าที่ฝ่ายคนพอแล้ว จะให้ไปอยู่ฝ่ายไหนก็ไม่มีใครอยากได้ เนื่องจากเราบอกไปตามตรงว่าเราพิมพ์ดีดได้แต่ไม่คล่อง สุดท้ายเราก็ต้องมาอยู่สำนักงานเลขานุการ (สล.) โดยในวันแรกเราได้ทำงานเกี่ยวกับสารบรรณการรับหนังสือเข้าออก ต่อมาเราถูกย้ายให้ไปทำงานบุคลากรเนื่องจากพี่ที่เป็นบุคลากรลาคลอด เราทำงานตรงนั้นประมาณ 2 เดือน เจ้าของงานกลับมาเราก็โดนไปช่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งงานนี้พี่ที่รับผิดชอบก็เพิ่งถูกเปลี่ยนงานมาไม่นาน และจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเองเกิดขึ้นจากงานตรงนี้ พี่ที่ทำงานกับเราคนนี้เรายกให้เป็นครูในการทำงานของเราเลย เพราะรับความเป็นไปของเราได้ และให้กำลังใจเราตลอดเพราะบางอย่างเราก็ทำได้ไม่ดี มีข้อผิดพลาด เนื่องจากงานเยอะมาก ต้องพิมพ์เอกสารทุกอย่างตั้งแต่การทำเรื่องขอจัดซื้อ ออกใบรายการแนบ อนุมัติ ใบสั่งซื้อสั่งจ้าง กว่าจะเสร็จขั้นตอนเล่นเอาเหนื่อยกันทีเดียว จุดพลิกคืองานยุ่งมากต้องพิมพ์เอกสารเยอะ เราได้ช่วยพี่พิมพ์แต่เราพิมพ์ทั้งช้าทั้งผิดยิ่งทำให้งานยุ่งเข้าไปอีก พี่เลยต้องทำเองเราเห็นพี่พิมพ์ดีดแล้วเรารู้สึกละอายใจพี่พิมพ์ขั้นเทพมาก เสียงพิมพ์ดีดรัวเร็วมากไม่มีผิดเลย ตั้งแต่วันนั้นเราเลยเริ่มฝึกพิมพ์ดีดตอนมีเวลาว่างจนสามารถช่วยแบ่งเบาภาระได้ในระดับหนึ่ง
ต่อมา สบ. ได้รับงบประมาณเครื่องคอมพิวเตอร์ 20 เครื่อง แบ่งให้แต่ละฝ่ายไว้ใช้งานเราได้ใช้งานคุ้มค่าที่สุด เพราะตอนนั้นคนก็ยังใช้พิมพ์ดีดกันอยู่เราใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พังไปหลายเครื่องเนื่องจากโดนไวรัสคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นยังไม่รู้จักวิธีการป้องกัน ก็ทำให้ได้เรียนรู้ฝึกฝนจนใช้งานโปรแกรม Word ได้คล่อง ตอนนั้นใช้งานเวอร์ชั่น 3.11 ต่อมา หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ได้มีการสำรวจแล้วพบว่ามีเอกสารทางราชการจำนวนมากที่ไม่เคยทำลายเอกสารเลย ในฝ่ายก็เลยคิดว่าจะต้องทำลายเอกสารแล้ว ต้องนำเอกสารต่างๆ มาลงบันทึกการทำลายตามระเบียบสารบรรณ ซึ่งตอนนั้นจึงได้เรียนรู้โปรแกรม Excel สำหรับบันทึกตามแบบฟอร์มการทำลายเอกสาร
เมื่อระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ พร้อมกับโปรแกรมสนทนาต่างๆ เราได้ใช้โปรแกรมสนทนา ICQ สอบถามปัญหาการใช้งานคอมพิวเตอร์จากนักศึกษาสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสอน จนทำให้เรามีทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เราได้ผ่านงานมา 3 งานแล้ว คือ งานสารบรรณ งานบุคลากร และงานจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเราได้นำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยในการทำงานของเราให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ต่อมามีเจ้าหน้าที่ของ สบ.คนหนึ่งจะโอนย้าย เธอเป็นคนทำบัญชีของสำนักฯ เราจึงถูกมอบงานเพิ่มให้ทำบัญชีสำนักฯ แทนอีกหนึ่งตำแหน่งหนึ่ง เราทำงานในฝ่ายสำนักงานเลขานุการ ทั้งหมด 4 งาน ภายในระยะเวลา 4 ปี ที่ไม่ได้ทำ 2 งานคือ งานพัสดุ และงานการเงิน
ด้วยปัญหาความตรงและการไม่ยอมคนทำให้เราได้รับคำสั่งฟ้าผ่าถูกย้ายฝ่ายไปอยู่ฝ่ายทดสอบและประเมินผล ไปรับผิดชอบการนำเข้าเกรดนักศึกษาและการตรวจสอบผลการเรียนของนักศึกษาในฝ่ายนี้เราได้รับผิดชอบงานค่อนข้างเยอะ ทำงานทะเบียนวิทยาเขตของคณะบริหารธุรกิจ จำนวน 8 วิทยาเขต งานสารบรรณของฝ่ายออกหนังสือโต้ตอบ และงานจัดทำประกาศพ้นสภาพของนักศึกษาทุกคณะ เราไปอยู่ที่ฝ่ายนั้นประมาณ เกือบ 2 ปี ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอีก มีการสั่งย้ายบุคลากรจำนวน 21 รายให้ไปอยู่ยังหน่วยงานอื่นๆ เราเป็นหนึ่งในนั้นที่ถูกย้ายไปที่ สถาบันวิทยบริการ ส่วนเพื่อนเราถูกย้ายไปที่สำนักพัฒนาและบริการวิชาการ (สพบ.) เราไปทางานที่สำนักวิทยบริการ เพียง 1 ปี โดยรับผิดชอบงานบุคลากร และได้มีส่วนร่วมในการจัดทำรายการโทรทัศน์ทางการศึกษาเพื่อเผยแพร่ รายการ English Action แต่ที่นี่ทำให้เราได้เรียนรู้คน และวัฒนธรรมองค์กรอีกรูปแบบหนึ่ง
ต่อมาเราได้รับการขอตัวไปช่วยราชการที่ สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ไปช่วยในการทำแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเราได้รับการทาบทามจากรองผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากเราเคยไปช่วยดูแลนักศึกษาต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในขณะนั้น สถานที่แห่งนี้เราได้เรียนรู้อย่างแท้จริงทั้งในเรื่องของกระบวนการคิด การวางแผน การปฏิบัติงานจริง และการประเมินผล เราได้เขียนโครงการเพื่อของบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และโครงการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ งบประมาณเป็นหลักล้าน เราได้ความรู้จากการทำงานมากมาย การวิเคราะห์ข้อมูลการเชื่อมโยงข้อมูล และการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร
จากการทำงานที่สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ ทำให้เราต้องไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหน่วยงานในด้านการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อจบการศึกษาแล้วเราได้รับผิดชอบงานการศึกษาต่อเนื่อง มีหน้าที่ช่วยบุคลากร ในการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เราได้ทำงานด้านวิชาการอย่างต่อเนื่องจากนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาในปี 2548 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคล ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” และได้มีการรวมสำนัก 2 สำนักเข้าด้วยกันคือ สำนักวิทยบริการ รวมกับ สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้ชื่อ “สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ” และงานของเราก็ถูกกำหนดเป็นฝ่ายชื่อ “ฝ่ายผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์” มีหน้าที่เผยแพร่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบห้องเรียนออนไลน์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ในการใช้งานระบบ ให้ความรู้ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และให้คำปรึกษาในด้านการเก็บข้อมูลงานวิจัยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ตลอดระยะเวลา 24 ปี ของการรับราชการ พบว่าระบบราชการยังมีข้อบกพร่องในเรื่องของการวางแผน การปฏิบัติตามแผน เท่าที่เห็นมีแต่การปรับแผนซึ่งปรับอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าการวางแผนของเราไม่ดี และที่สำคัญคือไม่มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างจะเป็นม้าตีนปลายในท้ายปีงบประมาณทุกครั้ง หรือสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง
แต่สำหรับเรา เมื่อเรารับภารกิจมา เราจะใช้การวางแผน PDCA พร้อมปฏิบัติการด้วย System Approach เพื่อทวนสอบกระบวนการทำงาน สุดท้ายเราใช้หลักการของ KAIZEN ในการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง เรารู้แต่ว่าในการทำงานทุกงานเราต้องมีรายงานเพื่อเก็บเป็นบันทึก และพร้อมปรับปรุงในข้อบกพร่อง อีกทั้งส่งต่อเพื่อเป็นองค์ความรู้ขององค์กร สิ่งนี้มันเป็นอุปนิสัยของเรา เราก็พยายามสร้างคนที่ทำงานกับเราให้มีอุปนิสัยการทำงานเหมือนเรา เพราะเราคิดว่า “เราต้องตั้งใจรับราชการและทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด” นอกจากสร้างงานแล้วเรายังต้องมีจิตสำนึกในการสร้างคนด้วย
สิ่งที่เราภูมิใจมากที่สุด เราได้สร้างข้าราชการที่มีแนวคิดเหมือนอย่างเราเข้าสู่ระบบไปแล้วอย่างน้อย 4 คน ปัจจุบันทั้งหมดยังคงรับราชการอยู่ หนึ่งคนทำงานในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หนึ่งคนเป็นครูชำนาญการ ในโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียง หนึ่งคนเป็นพัฒนากร จังหวัดสมุทรปราการ และอีกหนึ่งคนเป็นข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เป็นรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง”
พระบรมราโชวาท เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ปีพุทธศักราช 2533 พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน